ประวัติโรงพยาบาล

ประวัติโรงพยาบาล

โรงพยาบาลท่าสองยาง  จังหวัดตาก
 
ประวัติ และความเป็นมาของโรงพยาบาลท่าสองยาง
          โรงพยาบาลท่าสองยาง เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง เดิมทีมีที่ทำการอยู่ที่ บ้านเลขที่ 196 หมู่ที่ 2 ถนนสายแม่สอด-แม่สะเรียง ตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ในขณะนั้นยังเป็นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง ได้เปิดบริการให้แก่ประชาชนเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2528 โดยนายแพทย์โกมล สายชุ่มอินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก ในขณะนั้น และได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2528 โดยนายเทอดพงษ์ ไชยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น โดยมีนายแพทย์วีระกิจ หิรัญวิวัฒน์กุล เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนแรกประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 13 คน
          ต่อมาขอบข่ายการให้บริการได้เพิ่มขึ้นและการทำงานได้ขยายขอบเขตออกไป แต่มีข้อจำกัดของเนื้อที่และอาคารสถานที่ของโรงพยาบาลที่มีอยู่ไม่สามารถขยายหรือก่อสร้างได้ ในปี 2534 จึงได้มีโครงการขยายเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง โดยใช้พื้นที่สาธารณะ หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ต้าน บนเนื้อที่ 14 ไร่ 2 งาน แบ่งเป็น 2 แปลง โดยแปลงที่ 1 เป็นตัวอาคารโรงพยาบาล ส่วนแปลงที่ 2 เป็นตัวอาคารบ้านพัก ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2535 แล้วเสร็จในปี 2536 ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 15,000,000 บาท ได้ทำการเปิดให้บริการแก่ประชาชน เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2539 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2539 และเนื่องจากการที่มีผู้รับบริการเป็นจำนวนมาก เพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาอนุมัติให้โรงพยาบาลท่าสองยาง ปรับระดับสถานบริการ ปรับจำนวนเตียง และเปิดสถานบริการจากจำนวนเตียง 30 เตียง เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง
         สืบเนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลท่าสองยาง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยางได้ถวายรายงาน งานด้านกายภาพบำบัด การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก รวมถึงสถานที่ให้บริการยังมีขนาดจำกัด ได้รายงานการขอก่อสร้างอาคารส่งเสริมสุขภาพ และเอนกประสงค์ เพื่อใช้ในการจัดบริการด้านกายภาพบำบัด การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกให้ได้มาตรฐาน ครบวงจร รองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสรับสั่งให้สร้างในที่ดินที่นายอุดร ตันติสุนทร บริจาคให้โรงพยาบาลท่าสองยาง ซึ่งมีขนาดที่ดิน 10 ไร่ 83 ตารางวา เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 ทางโรงพยาบาลท่าสองยางได้ทำหนังสือถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก และทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก ได้ทำหนังสือขอพระราชทานถึงสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อขอพระราชทานสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างอาคาร เพื่อใช้ในการจัดบริการด้านกายภาพบำบัด การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก
         เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารส่งเสริมสุขภาพ และเอนกประสงค์ โดยท่านสำเริง เอี่ยมสะอาด รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพฯ เป็นประธาน และติดตามดำเนินการก่อสร้าง อาคารได้แล้วเสร็จเดือนธันวาคม 2561 สมเด็จรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามอาคารว่า อาคารพระราชทาน 22 และได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์เพื่อเปิดอาคารพระราชทาน 22 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561  
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2526 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านห้วยขี้หมี ตําบลท่าสองยาง อําเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาในการก่อสร้างอาคารผู้ป่วย 5 ชั้น จำนวน 1 หลัง การนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยพระราชทาน เพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2563 ถึงวันที่ 16 กันยายน 2566 ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคาร ในวันที่ 25 เมษายน 2524 โดยท่านสำเริง เอี่ยมสะอาด รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพฯ ปัจจุบันอาคารได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ และได้เปิดให้บริการดังนี้

ชั้นที่ 1 ห้องผ่าตัด จำนวน 3 ห้อง ปัจจุบันเปิดใช้จำนวน 2 ห้อง
ชั้นที่ 2 หอผู้ป่วยวิกฤติ จำนวน 10 เตียง ปัจจุบันเปิดให้บริการ จำนวน 6 เตียง
ชั้นที่ 3 หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม จำนวน 24 เตียง และห้องแยกโรค 2 เตียง
ชั้นที่ 4 หออภิบาลทารก จำนวน 16 เตียง และมารดาหลังคลอด 16 เตียง
ชั้นที่ 5 ห้องพิเศษ จำนวน 12 ห้อง ปัจจุบันเปิดให้บริการก่อน จำนวน 6 ห้อง
 
รายนามผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง
1. นายแพทย์วีระกิจ  หิรัญวิวัฒน์กุล  ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2528 – 2529
2. นายแพทย์อนันต์  ยิ่งยศ  ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2529 – 2530
3. นายแพทย์หรินารถ  หัทยาภิรมย์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2530 – 2532
4. นายแพทย์วิเชียร  โยธาใหญ่        ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2532 – 2533
5. นายแพทย์สมพงษ์  ชลคีรี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2533 – 2534
6. นายแพทย์ปิยชาติ  สุทธินาค ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2534 -  2536
7. นายแพทย์ยงยศ  จีระธัญญาสกุล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2536 – 2537
8. แพทย์หญิงจิราพร  พลายโถ        ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2537 – 2537 (6 เดือน)
9. นายแพทย์จิรพงศ์  อุทัยศิลป์       ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2537 – 5238 ( 6 เดือน)
10. นายแพทย์สมคิด  มิ่งพฤติ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2538 – 2539
11. นายแพทย์ศุภชัย  กิจคีรีไพบูลย์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2539 – 2540
12. นายแพทย์จิรพงศ์  อุทัยศิลป์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2540 – 2541 ( 5 เดือน )
13. นายแพทย์จิรภัทร  กัลยณพจน์พร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2541 – 2542
14. แพทย์หญิงอรัญญา  กัลยณพจน์พร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2542 – 2544
15. นายแพทย์ธวัชชัย  ยิ่งทวีศักดิ์      ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2544 – ปัจจุบัน
 
ขอบเขตการให้บริการ
          โรงพยาบาลท่าสองยางให้บริการสาธารณสุขครบทุกด้าน ฟากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดตาก ครอบคลุมประชากร  6  ตำบล  67 หมู่บ้าน 2 ชุมชน 226 กลุ่มบ้าน 21,945 หลังคาเรือน ร่วมทั้งดูแลสุขภาพทางด้านพื้นที่เข้าถึงบริการยากลำบาก ทุรกันดารและงานหมู่บ้านคู่ขนานชายแดนช่องทางเข้าออกตามธรรมชาติ

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง

ติดต่อเรา

โรงพยาบาลท่าสองยาง

357 หมู่ 1 ตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก 63150

facebook.com/ThasongyangHospitalFoundation/

โทร. 055-589-255, 055-589-256